สถานการณ์หรือการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับ SEDA

by seda

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

กระแสการพัฒนากิจการเพื่อสังคมได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย อันเนื่องมาจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงของการพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมา  เมื่อเศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้า ขยายขนาด และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นตามมาโดยทวีความซับซ้อน หลากหลาย และความรุนแรงเช่นเดียวกัน จนเกินกำลังที่หน่วยงานภาครัฐจะรับมือได้ทั้งหมดเพียงลำพัง ส่งผลทำให้ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เกิดองค์การสาธารณประโยชน์ (Non-governmental Organization – NGO) ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับท้องถิ่น องค์กรดังกล่าวมักพึ่งพาแหล่งทุนจากภายนอก ในลักษะการรับบริจาค การให้เปล่า ในยุคปัจจุบันองค์กรเหล่านั้นประสบปัญหาขาดความต่อเนื่อง มีข้อจำกัดในการขยายงานและความยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความสนใจ กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อาทิ การพัฒนาระบบสหกรณ์ การส่งเสริมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  การส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์  ธนาคารประชาชน รวมไปถึง การตั้งวิสาหกิจชุมชน  เป็นต้น ความหลากหลายขององค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อสังคมเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาชนในชุมชนเพื่อความยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการจัดตั้ง บริหารจัดการและดำเนินกิจการโดยคนในชุมชน ซึ่งเข้าใจสภาพปัญหาอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดการสร้างงาน และการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน  ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้เริ่มกำหนดนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดกิจการเพื่อสังคม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมขึ้น เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2552 เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจการรูปแบบใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่ากิจการเพื่อสังคมจะเป็นภาคส่วนที่ผลักดันให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้า ลดความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาจากผลของการพัฒนาที่เร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA : National Innovation Association) ได้ผลักดันหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation Village เป็นโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อนําผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ ไปแก้ไขปัญหา ที่สามารถตอบโจทย์จากพื้นที่เป้าหมายได้จริงและก่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่เป้าหมาย ยกระดับคุณภาพสินค้า หรือบริการของธุรกิจเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ และเป็นต้นแบบการขยายผล ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ให้เข้าถึงปัญหาตามบริบทของพื้นที่เป้าหมาย นำไปสู่การสร้างผลตอนแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยในปี พ.ศ. 2562-2564  มีนวัตกรรมเพื่อสังคมจำนวนกว่า 60 โครงการ ครอบคลุม 12  จังหวัด ที่มีความหลากหลายทั้งนวัตกรรมด้านการเกษตร พลังงานทดแทนจากโซล่าร์เซล การผลิตสิ่งทอพื้นเมือง การท่องเที่ยว การตลาดออนไลน์ ผลิตภัณฑ์แปรรูป การออกแบบสินค้าจากอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นต้น (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ,2564)  สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมสังคมเพื่อชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

สถานการณ์หรือการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม

social enterprise

ในยุคสังคมดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในมิติต่างๆ ของสังคม ทั้งแง่ของพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ซึ่งมิได้เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทำงานเท่านั้น แต่ยังหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตได้อย่างแท้จริง (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2559)  ส่งผลต่อวิธีคิดของมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงคนสูงวัย เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ตช่วงศตวรรษที่ 21  สื่อสังคมดิจิทัลสร้างวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าพลวัตวิถี(Mobile Life) ทะลายข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม (คณะรัฐศาสตร์ จุฬา,2563)  แต่สถาบันการศึกษาก็ยังคงมีสำคัญอย่างยิ่งยวดในการขัดเกลาทางสังคม ที่หล่อหลอมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้คงไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ทั้งกระบวนการคิด จิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและการประกอบสัมมาชีพภายใต้สังคมโลก ให้เป็นผู้ที่มีทักษะพร้อมอย่างคนร่วมสมัยในยุคดิจิทัล (สารรังสิต,มหาวิทยาลัยรังสิต,2562)  นอกจากนี้ กระแสของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอิสระ ประกอบอาชีพ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการที่นอกจากจะสร้างผลกำไรแล้วยังมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวในเรื่องกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น

Related Posts

Leave a Comment